Hot Topic!
การบินไทย เอายังไง?
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 21,2017
การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจพรีเมียม นำส่งรายได้แก่แผ่นดินอันดับต้นๆ แต่หลังถูกการเมืองรุมทึ้ง บริหารบกพร่อง ผิดพลาด หรือทุจริต เชิงนโยบาย มีการจัดซื้อเครื่องบินมาบินขาดทุน จอดทิ้งๆ ขว้างๆ ฯลฯ ผลประกอบการขาดทุนย่อยยับ
กระทั่งเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อปฏิรูปการบินไทย ในยุคปัจจุบัน
1. รายงานข่าวระบุว่า การบินไทยเตรียมจัดตั้ง Thai Group เพื่อบริหารการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์ปัจจุบัน การบินไทยถือหุ้นอยู่ทั้งสามสายการบิน
ระบุว่า จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจการบิน มีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ "การบินไทย" เป็นสายการบินบริการเต็มรูปแบบ (full-service carrier) เพื่อให้บริการในเส้นทางระยะกลางและไกล (เอเชียและระหว่างทวีป)
"ไทยสมายล์" เป็นสายการบินบริการเต็มรูปแบบ แบบพรีเมียมอีโคโนมี (premium economy) และวางแผนเป็นสายการบินภูมิภาค (regional airline) เพื่อให้บริการในเส้นทางระยะกลางและใกล้ (ในประเทศ- CLMV- เอเชีย)
"นกแอร์" เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost carrier) ให้บริการเฉพาะในเส้นทางระยะใกล้ (ในประเทศ- CLMV)
อธิบายว่า จะทำให้ Thai Group ให้บริการได้ครอบคลุมตาม ความต้องการของผู้โดยสารแต่ละกลุ่ม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้น่าสนใจ ระบุว่า
การตั้ง Thai Group สร้างผลบวกในหลายๆ ด้าน อาทิ การช่วยรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดเดิม การช่วยเจาะกลุ่มตลาดใหม่ การลดความทับซ้อนในการบริหาร และการสร้างความร่วมมือในการแข่งขัน เป็นต้น การปรับตัวนี้จะช่วยให้ Thai Group มีความแข็งแกร่งในการเผชิญกับความท้าทายจาก ผู้เล่นหน้าใหม่ จากการบริหารสายการบินภายใต้สายการบิน (Airlines within Airlines: AWA)
ปัจจุบัน สายการบินบริการเต็มรูปแบบ ได้มีการปรับกลยุทธ์ตั้งสายการบินต้นทุนต่ำของตัวเองเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดคืน ยกตัวอย่างเช่น Qantas Airways (Qantas) มีการตั้ง Jetstar airways (Jetstar) เพื่อรักษาและชิงส่วนแบ่งตลาดคืนจาก Virgin Australia ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ด้วยการใช้กลยุทธ์แบรนด์คู่ขนาน (dual-brand strategy) โดยให้ทั้ง Qantas และ Jetstar ร่วมบริการในเส้นทางที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้ Qantas สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งจาก 49% เป็น 60% ภายในปีเดียว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ Qantas สามารถกำหนดค่าตั๋วได้สูงกว่าสายการบินคู่แข่งด้วยคุณภาพการบริการที่เพิ่มขึ้น จากความถี่เที่ยวบินที่สูงขึ้น ทำให้ลดโอกาสที่เที่ยวบินจะล่าช้า หรือในกรณีที่เที่ยวบินยกเลิก เนื่องจากผู้โดยสารสามารถใช้บริการ เที่ยวบินของกลุ่มได้อย่างสะดวก โดยเมื่อพิจารณาในรายได้ของกลุ่ม พบว่า Jetstar เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ของกลุ่มยังรักษาระดับได้ค่อนข้างดี
อีไอซีประเมินว่า การปรับตัวของ Thai Group จะสร้างประโยชน์ทั้งในด้านการสร้าง รายได้และการดำเนินการ นกแอร์และไทยสมายล์จะช่วยรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดใหม่ ช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวแก่กลุ่ม คล้ายคลึงกับกรณีของกลุ่ม Qantas
นอกจากนี้ Thai Group จะช่วยสร้างเส้นทางการบินใหม่จากการเชื่อมโยงเส้นทางของสายการบินภายในกลุ่ม ประกอบกับโปรแกรมสะสมแต้ม จะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารใหม่และผู้โดยสารที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (brand loyalty) ได้ อีกทั้งการปรับตัวนี้จะช่วยลดความทับซ้อนในการบริหาร การปฏิบัติงาน และการสร้างความร่วมมือในการแข่งขัน ซึ่งอาจจะทำให้ Thai Group สามารถกำหนดราคาค่าโดยสาร จากการใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (differentiation) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้มีความมั่นคงและมีอัตราการเติบโตสูง
Thai Group ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านบุคลากรและเพิ่มอำนาจการต่อรองกับกลุ่ม supplier ที่มากขึ้น
2. ข้างต้นคือมุมมองของนักวิเคราะห์ ต่อวิสัยทัศน์เชิงนโยบายใหม่แต่ปัญหาของการบินไทยที่หมักหมม สะสมอยู่ ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น
กัปตันโยธิน ภมรมนตรี นำเสนอข้อคิดน่าสนใจไว้ในเฟซบุ๊ค Jothin Pamon-montri ระบุว่า "การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2560 จะต้องมีคำถามหลายข้อเกี่ยวกับผลประกอบการ และการ ผิดพลาดในการบริหารจัดการ
คุณอนุษณีย์ ในฐานะกรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้วยความหวังดีผมขอเสนอให้คุณอุษณีย์เป็นผู้ตอบข้อซักถามแก่ผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่โดย
1.ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา
2.อย่าปกป้องคนผิด
3.อย่าปกป้องความเสียหายและเสนอขั้นตอนการแก้ไข
คำถามที่ผู้ถือหุ้นต้องการทราบ คือ จำนวนเครื่องบินที่จอดรอการขาย โดยเฉพาะ A340-600 จำนาน 6 ลำ ที่ยังมีอายุใช้งานอีก 10 ปี แล้วเอาไปจอดตากแดดตากฝนมา 2 ปีกว่าแล้ว
ห้ามตอบว่า "เหตุที่ยังขายไม่ได้เพราะผู้ที่จะซื้อเสนอราคาต่ำกว่าราคาตลาด" ราคาตลาดของเครื่องบินนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของเครื่องบิน ถ้าจะให้สภาพของเครื่อง A340-600 ทั้ง 6 ลำ ของบริษัทเท่ากับราคาตลาด บริษัทจำเป็นต้องลงทุนเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท
ก่อนตอบคำถาม อ่านข้อต้องห้ามในข้อ 2 และข้อ 3 เครื่องบินอีกหนึ่งลำ คือ เครื่องบิน BOEING 747 ที่เอาไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนสินค้าตามแผนการศึกษา 4 ปีคุ้มทุน บินไปได้ปีกว่าต้องจอด เพราะขาดทุนมหาศาล
ห้ามตอบว่า "เพราะน้ำมันแพงกว่าที่ทำการศึกษา" ทุกการศึกษาต้องศึกษาอัตราความเสี่ยง ถ้าตอบว่าเพราะน้ำมันแพง การที่ศึกษาคือไม่ได้ทำการศึกษาความเสี่ยง ก่อนตอบคำถามนี้ อ่านข้อต้องห้ามในข้อ 2 และข้อ 3
คำถามที่เป็นที่สนใจของผู้ถือหุ้น คือ เหตุผลที่รายได้ในปี 2559 น้อยกว่าปี'58 และรายได้ของปี'58 น้อยกว่าปี'57 ส่วนค่าใช้จ่ายไม่รวม ค่าน้ำมันของปี 2559 สูงกว่าปี'58 และค่าใช้จ่ายของปี'58 สูงกว่าปี'57
คำตอบต้องอ่านข้อเสนอในข้อที่ 1 คือ ตอบคำถามตรงไปตรงมา "คือ การล้มเหลวของแผนปฏิรูปโดยสิ้นเชิง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ยกเลิกการจ้างที่ปรึกษาการตลาดชาวต่างชาติแล้ว"
ถ้าคุณอุษณีย์ยึดข้อเสนอ 1, 2 และ 3 ในการตอบทำถามผู้ถือหุ้น ผมเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจะพอใจ เพราะเมื่อตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา ไม่ปกป้อง คนผิด และไม่ปกป้องความเสียหาย แสดงว่ามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาของบริษัทอย่างจริงจัง"
3.การบินไทยมีผลกรรมจากอดีต ที่ถึงเวลาเช็คบิล สะสาง ตรงไปตรงมา
เจ็บ คือ เจ็บ
เพราะยังมีความท้าทายในอนาคตที่ต้องร่วมกันฝ่าฟันไปอีกด้วย ไม่ว่า จะเป็น ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ความผันผวนของราคาน้ำมัน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองโลก ฯลฯ
การบินไทยจะต้องจัดทัพเพื่อออกไปรบในสมรภูมิใหญ่ นำความภาคภูมิใจ และผลประโยชน์ส่วนรวมกลับคืนมาสู่แผ่นดิน
- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 21 เมษายน 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.naewna.com/politic/columnist/29386